(๓) วิมุตติมรรค:ทางแห่งความหลุดพ้น(ภาคปัญญา)

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย anand, 8 ตุลาคม 2009.

  1. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    ขอนอบน้อมแด่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

    ขอนอบน้อมแด่ พระอรหันต์ อุปติสสะ ผู้รจนาหนังสือวิมุตติมรรค

    [๕] ความหมายของปัญญา
    (ถาม) อะไร เป็นความหมายของปัญญา?
    (ตอบ) ปัญญา หมายถึง ความรู้ (ตามความเป็นจริงว่าสิ่งใดเป็นสิ่งดี เป็นกุศล)
    และละได้ (ในสิ่งที่รู้ว่าไม่ดี)

    [๖]
    (ถาม) คุณธรรมอะไร ที่ทำให้ได้มาซึ่งปัญญา?
    (ตอบ) ปัญญาเกิดจากคุณธรรม ๑๑ ประการ คือ
    ๑. การค้นคว้าศึกษาเพื่อเข้าใจความหมายในคัมภีร์ที่ลึกซึ้ง
    (ในข้อ ๑ มีความหมายว่า คำสอนที่พระบรมศาสดาสอน ล้วนแต่เป็นคำสอนที่ย่อๆ เหมาะกับปัญญาและสภาพแวดล้อมของแต่ละท่านที่ทรงสอน ในยุคนั้น เมื่อมาถึงยุคของเราซึ่งปัญญาในธรรมน้อย และสิ่งแวดล้อมก็เปลี่ยนไป จึงจำเป็นต้องค้นคว้า หาความรู้เพิ่มในเรื่องนั้นให้มากขึ้นอีก (ตามข้อ ๖. เช่นอรรรถกถา ฎีกาของเรื่องนั้นๆ จึงจะสามารถเข้าใจและนำไปปฏิบัติได้ถูกต้อง)
    ๒. การทำความดีต่างๆ
    ๓. การมีศีลบริสุทธิ์
    ๔. การเจริญสมถะและวิปัสสนา
    ๕. อริยสัจสี่ (การเอาใจใส่ศึกษาค้นคว้าในอริยสัจสี่)
    ๖. การค้นคว้าการทำงานในวิชาการ (การศึกษาทางปริยัติในพระสูตร พระวินัย พระอภิธรรม)
    ๗. การทำจิตให้สงบ
    ๘. การตั้งอยู่ในฌานสม่ำเสมอ
    ๙. ทำจิตให้ปราศจากนิวรณ์
    ๑๐. การไม่คบคนพาล (คนทรามปัญญา คนไม่ฉลาด)
    ๑๑. คบแต่บัณฑิต
    [๗] ประเภทของปัญญา
    (ถาม) ปัญญามีกี่ประเภท?
    (ตอบ) ปัญญามี ๒ ประเภท ก็มี ๓ ประเภทก็มี ๔ ประเภทก็มี

    หมวด ๒ ของปัญญา
    (ถาม) หมวด ๒ ของปัญญาคืออะไร?
    (ตอบ) คือโลกียปัญญาและโลกุตตรปัญญา
    ปัญญาที่สัมปยุตด้วยอริยมรรคอริยผลเป็นโลกุตตรปัญญา ส่วนปัญญาอย่างอื่นเป็นโลกียปัญญา

    โลกียปัญญาประกอบด้วยอาสวะ สังโยชน์ คันถะ เป็นโอฆะ โยคะ นิวรณ์ ปรามัฏฐ์ สังสารวัฏฏะและกิเลส

    ส่วนปัญญาที่เป็นโลกุตร ปราศจากอาสวะ ไม่มีสังโยชน์ ไม่มีคันถะ ไม่มีโอฆะ ไม่มีนิวรณ์ ไม่มีสังสารวัฏ และไม่เป็นกิเลส
    (กล่าวง่ายๆ โลกียปัญญา เป็นปัญญาเพื่อการสร้าง สะสม และยึดถือไว้ ส่วนปัญญาที่เป็นโลกุตตระ เป็นปัญญาในการสละออก เป็นปัญญาในการละกิเลส และปล่อยวาง

    ในธัมมสังคิมินี กล่าวว่า โลกียปัญญา เป็นปัญญาที่มีอาสวะ มีสังโยชน์ มีคันถะ เป็นคันถะ เป็นโอฆะ เป็นนิวรณ์ เป็นปรามาส เป็นอุปาทาน เป็นสังกิเลส

    หมายเหตุ ปรามาส ต้นฉบับภาษาอังกฤษใช้คำว่า CONTACT ในที่นี้ แปลว่า ปรามาส ให้ตรงกับบาลี ปรามาส หรือ ปรามัฏฐ์ แปลว่า สัมผัส ( CONTACT) หรือแปลว่า ยึดไว้ ลูบคลำไว้ ADHERANCE ซึ่งเป็นการยึดไว้ในทางที่ผิด เช่น สีลัพพตปรามาส ยึดศีล และการปฏิบัติที่ผิด)

    [๘] หมวด ๓ ของปัญญา นัยที่ ๑
    ปัญญา ๓ ประเภท คือ จินตามยปัญญา สุตมยปัญญา และภาวนามยปัญญา
    ปัญญาสามประเภทนั้น ปัญญาที่บุคคลได้มาโดยไม่ได้เรียนจากผู้อื่น เป็นปัญญาที่เกิดจากกรรมของแต่ละบุคคล หรือปัญญาที่ตรงกับความจริง เป็นความรู้ที่เกี่ยวกับหน้าที่การงาน หรือเกี่ยวกับวิชาการ เรียกว่า จินตามยปัญญา ปัญญาที่ได้มาจากการฟัง การเรียนจากผู้อื่น เรียกว่า สุตมยปัญญา บุคคลเมื่อทำสมาธิ แล้วทำปัญญาให้เกิดขึ้น นี้เรียกว่า ภาวนามยปัญญา

    [๙] หมวด ๓ ของปัญญา นัยที่ ๒
    อีกอย่างหนึ่ง ปัญญามี ๓ ประเภท คือ อายโกศลปัญญา (ปัญญาที่รู้ในธรรมที่เป็นประโยชน์ ) อบายโกศลปัญญา (ปัญญาที่รู้ธรรมที่ไม่ใช่ประโยชน์) และอุปายโกศลปัญญา (ปัญญาที่รู้วิธีที่เป็นกุศล) ในปัญญาสามประเภทนั้น บุคคลเมื่อใช้ปัญญาบำเพ็ญธรรมเหล่านี้ อกุศลธรรมย่อมเสื่อมไป กุศลธรรมทั้งหลายย่อมเกิดขึ้น และกุศลธรรมย่อมเสื่อมไป ปัญญานี้เรียกว่า อปายโกศล ความฉลาดในอุบายทั้งปวงอันจะนำไปสู่ความสำเร็จ เรียกว่า อุปายโกศล (อภิ.วิภังค. ภาค ๒ หน้า ๕๘๕ อธิบายอุปายโกศล ว่าเป็นอุบายแก้ไขในกิจรีบด่วน หรือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วนั้น เรียกว่าอุปายโกศล)
    [๑๐] หมวด ๓ ของปัญญา นัยที่ ๓
    อีกนัยหนึ่ง ปัญญาสามประเภทคือ อาจยคามินีปัญญา (ปัญญาในธรรมที่สั่งสม) อปจยคามินีปัญญา (ปัญญาในธรรมที่คายออก) และเนวาจยคามินีปัญญา (ปัญญาที่ไม่ใช่ทั้งสั่งสมและคายออก)

    ในที่นี้ ปัญญาในกุศลธรรมในภูมิสาม (กามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร) เป็นปัญญาในธรรมที่สั่งสม (สั่งสมกุศลกรรมเพื่อหวังได้ภพที่ดี) [หมายเหตุ ปัญญาที่มีการแยกประเภทเหล่านี้ และต่อไปนี้ ขอให้สังเกต ท่านมุ่งพิจารณาเฉพาะปัญญาฝ่ายกุศลทั้งสิ้น
    ปัญญาในการคายออก ท่านหมายถึง ปัญญาที่ละกิเลสและเครื่องเศร้าหมองต่างๆ ออกไปจากจิตในขันธสันดาน] ปัญญาในอริยมรรคสี่ เป็นปัญญาในการคลายออก ปัญญาในการคายกิเลสออกเพื่อหลุดออกจากวัฏฏะ ปัญญานี้ในอพยากฤตธรรม ปัญญาในธรรมแห่งกิริยาจิตในภูมิสาม เป็เนวาจยคามินีปัญญา
    [๑๑] หมวด ๔ แห่งปัญญา นัยที่ ๑
    ปัญญามีสี่ประเภท คือ กัมมัสกตาญาณ ปัญญาที่รู้ว่าบุคคลมีกรรมเป็นของๆ คน อนุโลมขันติญาณ (ปัญญาในวิปัสสนา) มรรคญาณ (ปัญญาในอริยมรรค) ผลญาณ (ปัญญาในอริยผล)

    ในที่นี้ สัมมาทิฏฐิอันเป็นไปในวัตถุ ๑๐ เรียกว่า กัมมัสกตาญาณ [สัมมาทิฏฐิในวัตถุ ๑๐ ได้แก่ปัญญาที่รู้ว่า
    ๑. การให้ทานย่อมมีผล

    ๒. การบูชาย่อมมีผล

    ๓. การบวงสรวงเทวดาย่อมมีผล

    ๔. ผลวิบากของกรรมดีและกรรมชั่วมีอยู่

    ๕. โลกนี้มีอยู่ ผู้มาเกิดมี

    ๖. โลกหน้ามีอยู่และผู้ไปเกิดมี

    ๗. มารดามีอยู่

    ๘. บิดามีอยู่

    ๙. โอปปาติกสัตว์มีอยู่

    ๑๐. สมณพราหมณ์ผู้ปฏิบัติชอบ รู้ยิ่ง เห็นจริงด้วยตนเอง แล้วประกาศให้ผู้อื่นรู้ตามได้มีอยู่ในโลกนี้จริง]

    ปัญญาที่พิจารณาเห็นขันธ์ทั้งหลายว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เรียกว่า อนุโลขันติญาณ [ขอให้สังเกตุการจัดลำดับธรรมในหมวดนี้ เป็นการเรียงลำดับไปตามขั้นตอนของปัญญาที่จะไปสู่โลกุตตระ จะต้องเริ่มต้นขั้นแรกด้วยกัมมัสสกตาญาณ จากนั้น จึงจะก้าวไปสู่วิปัสสนาญาณและญาณขั้นสูงๆ ต่อไปได้

    ในอภิ.วภังค์ ภาคที่ ๒ ญาณวิภังค์ จตุกนิเทส หน้า ๕๘๘ ท่านอธิบายเรื่องการบูชาย่อมมีผล นั้นหมายถึงการบูชาในพระรัตนไตร

    อย่างไรก็ตาม มีคำอธิบายจากที่อื่นในอรรถกถาว่า การเซ่นสรวง บูชา ย่อมได้ผลดีทั้งนั้น อย่างน้อยก็ได้ความเป็นมิตรจากวิญญาณที่อาศัยอยู่ในนั้น]
    [๑๒] หมวด ๔ ของปัญญา นัยที่ ๒
    อนึ่ง ปัญญาสี่ประการคือ กามาวจรปัญญา รูปาวจรปัญญา อรูปาวจรปัญญา และอปริยาปันนปัญญา

    ในที่นี้ ปัญญาในกามาวจรกุศลธรรม และปัญญาในกามาวจรอพยากตธรรมเรียกว่า กามาวจรปัญญา ปัญญาในรูปาวจรกุศลธรรม และปัญญาในรูปาวจรอพยากตธรรม เรียกว่า รูปาวจรปัญญา ปัญญาในอรูปาวจรกุศลธรรม และปัญญาในอรูปาวจรอพยากตธรรม เีรียกว่า อรูปาวจรปัญญา ปัญญาในมรรคสี่ ผลสี่ ชื่อว่า อปริยาปันนปัญญา

    [๑๓] หมวด ๔ ของปัญญา นัยที่ ๓
    อีกนัยหนึ่ง ปัญญามีสี่ประเภท คือ ธรรมญาณ อันวยญาณ ปริจจญาณ สัมมุตติญาณ ในปัญญาสี่ประเภทนั้น ความรู้เกี่ยวกับมรรคสี่ ผลสี่ เรียกว่า ธรรมญาณ

    โยคีนั้นรู้อดีต อนาคต และปัจจุบันด้วยญาณอันเป็นปัจจุบัน และโดยนัยนี้ เธอรู้ได้ซึ่งอดีต อนาคต อันยาวไกล (และ) ความรู้ว่าในอดีตหรืออนาคต สมณพราหมณ์ ที่รู้อริยสัจสี่ ก็รู้ในอริยสัจสี่นี่เอง เรียกว่า อันวยญาณ (อภิ.วิภังค. ตอนที่ ๒ ข้อ ๘๒๕ หน้า ๕๙๐) ความกำหนดรู้จิตของผู้อื่นได้ เรียกว่า ปริจจญาณ ความรู้ที่นอกเหนือความรู้ทั้งสามนี้ เรียกว่า สัมมุติญาณ
    [๑๔] หมวด ๔ ของปัญญา นัยที่ ๔
    อนึ่ง ปัญญาสี่อีกนัยหนึ่ง คือปัญญาที่เกิดจากการสั่งสม ไม่ใช่การคายออก (อาจย โน อปลยปัญญา) ปัญญาที่เกิดจากการคายออก และไม่เกิดจากการสั่งสม (อปจย โน อปลยปัญญา) ปัญญาที่เกิดจากการสั่งสมและคายออกด้วย (อาจย อุปจยปัญญา) ปัญญาที่เกิดจากการสั่งสมก็ไม่ใช่ ปัญญาที่เกิดจากการคายออกก็ไม่ใช่ (เนวาจย โน อปจยปัญญา)

    ในที่นี้ กุศลปัญญาในกามาวจรธาตุ เรียกว่า ปัญญาที่เกิดจากการสั่งสม ไม่ใช่ปัญยาในการคายออก ปัญญาในมรรคสี่ เรียกว่า ปัญญาในการคายออก ไม่ใช่ปัญญาในการสั่งสมปัญญาในรูปธาตุ และอรูปธาตุ เรียกว่า ปัญญาในการสั่งสมและการคายออก [ฌานชั้นสูง คายออกธรรมของฌานชั้นต่ำกว่า แต่ก็ยังเป็นการสั่งสมกุศลธรรมอยู่]

    ปัญญาในวิบากธรรมในภูมิสี่ (ผลญาณทั้งสี่) และกิริยาอพยากตธรรมในภูมิสาม เรียกว่า ปัญญาที่ไม่ใช่การสั่งสมและไม่ใช่การคายออก
    [๑๕] หมวด ๔ ของปัญญา นัยที่ ๕
    อีกนัยหนึ่ง ปัญญามีสี่ประเภท คือ ปัญญาเป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย ไม่ใช่เพื่อความรู้แจ้ง (นิพพิทา โน ปฏิเวธปัญญา) ปัญญาที่เป็นไปเพื่อความรู้แจ้ง ไม่ใช่เพื่อความเบื่อหน่าย (ปฏิเวธ โน นิพพิทาปัญญา) ปัญญาที่เป็นไปทั้งเพื่อความเบื่อยหน่ายและความรู้แจ้ง ( นิพพิทา ปฏิเวธปัญญา) ปัญญาที่ไม่เป็นทั้งความเบื่อหน่ายและความรู้แจ้ง (เนว นิพพิทา โน ปฏิเวธปัญญา)

    ในที่นี้ปัญญาที่เกิดเบื่อหน่ายในกาม แต่ยังไม่แทงตลอดอภิญญาและอริยสัจสี่ เรียกว่า นิพพิทา โน ปฏิเวธปัญยา ปัญญาที่แทงตลอดอภิญญา (แต่ยังไม่แทงตลอดอริยสัจสี่) ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เรียกว่า ปฏิเวธ โน นิพพิทาปัญญา ปัญญาในมรรคสี่ย่อมเกิดจากความเบื่อหน่ายและแทงตลอดด้วย เรียกว่า นิพพิทา ปฏิเวธปัญญา ปัญญาอย่างอื่นๆ เป็นปัญญาที่ไม่เป็นทั้งเบื่อหน่ายและไม่แทงตลอด เรียก เนว นิพพิทา ในปฏิเวธปัญญา
    [อภิธรรมวิภังค์ อรรถาธิบายญาณวัตถุ หมวดสี่ ดูวิภังค์ภาค ๒ หน้า ๖๖๔ อธิบายว่า ปัญญาที่แทงตลอดอภิญญา แต่ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายได้แก่ปัญญาในรูปฌานที่สี่ เพราะฌานนี้เป็นบาทแห่งอภิญญา ๕

    ขอให้สังเกต ๒ ประการว่า ๑. คำว่า แทงตลอด (ปฏิเวธ) ท่านหมายความได้ ๒ นัยคือ อภิญญา ๕ หรืออีกนัยหนึ่งคือ มรรคสี่ (คือการแทงตลอดอริยสัจสี่) ประการที่ ๒ ปัญญาที่จะถึงมรรคสี่ได้นั้น จะต้องได้นิพพิทามาก่อนด้วย

    การบรรลุมรรคผลนิพพานนั้น จะต้องผ่านขั้นตอนของนิพพิทาเสมอ ดังนั้น การปฏิบัติอย่างไรก็ตามที่ทำให้เกิดนิพพิทาแล้ว ย่อมเป็นทางนำไปสู่มรรคผลได้ทั้งนั้น การกำหนดรู้ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความเป็นอนัตตา มีได้หลายรูปแบบ ดูวิปัสสนากถาว่าด้วยเรื่องวิปัสสนาในปฏิสัมภิทามรรคเล่มที่ ๒ ข้อ ๗๓๔ ผู้ปฏิบัติจะนำข้อใดข้อหนึ่งที่ถูกกับอัชฌาศัยของตนมาปฏิบัติเพื่อให้เกิดสังเวช อันนำไปสู่นิพพิทาญาณก็ได้

    ในติงสมัตตาสูตร สํ.นิ.ข้อ ๔๔๕ หน้า ๒๐๙ พระพุทธเจ้าทรงเห็นภิกษุชาวเมืองปาวากลุ่มหนึ่ง ประมาณ ๓๐ รูป บำเพ็ญธุดงคธรรมจนมีอินทรีย์แก่กล้าแล้ว แต่ก็ยังมีสังโยชน์ พระพุทธองค์ตรวจดูว่า ภิกษุเหล่านั้น จะสามารถทำให้แจ้งพระนิพพานได้ไหม? ก็ทรงทราบว่า ไม่ได้ พระพุทธองค์จึงแสดงพระธรรมเทศนา เรื่องความทุกข์ในวัฏฏสังสารอันกำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ พระพุทธองค์ตรัสตอนท้ายว่า "ก็ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พอทีเดียวเพื่อจะเบื่อหน่าย ในสังขารทั้งปวง พอเพื่อจะคลายกำหนัด พอเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้" ภิกษุเหล่านั้นเกิดความสังเวชสลดใจ ขณะที่พระผู้มีพระภาคกำลังตรัสอยู่ จิตของภิกษุชาวเมืองปาวาเหล่านั้นก็พ้นจากอาสวะหมดความถือมั่น

    มีคำอธิบายการเกิดนิพพิทอีกแบบหนึ่ง ในอรรถกถาของปฏิสัมภิทามรรค ภาคที่ ๑ อรรถกถา ทุกขสัจ ข้อ ๑๕ หน้า ๒๖๑ เป็นการอธิบายอนุปัสนา ๗ ท่านอธิบายลำดับการเกิดของนิพพิทาไว้ดังนี้

    การพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง คือ อนิจจานุปัสนา อนิจจานุปัสสนานั้น เป็นปฏิปักษ์ต่อนิจสัญญา ความสำคัญว่าเที่ยง (ขอให้สังเกตว่าอนิจจานุปัสสนาจะต้องแก่กล้าจนถึงข้อที่ไม่เห็นว่ามีสิ่งเที่ยง อนุปัสสนาข้อต่อไปก็เช่นเดียวกัน) การพิจารณาเห็นว่าเป็นทุกข์คือทุกขาุนุปัสสนา ทุกขานุปัสสนานี้ เป็นปฏิปักษ์ต่อ สุขสัญญา ความสำคัญว่าเป็นสุข การพิจารณาเห็นว่าเป็นอนัตตา คืออนัตตานุปัสนา อนัตตานุปัสนานั้น เป็นปฏิปักษ์ต่ออัตสัญญา ความสำคัญว่าเป็นอัตตา (ขอให้สังเกตว่า หากอนัตตสัญญา หรือนิจจสัญยา หรือทุกขสัญญายังไม่แก่กล้า นิพพิทาก็ยังไม่เกิด)

    พระโยคาวจรย่อมเบื่อหน่าย เพราะอนุปัสนา ๓ บริบูรณ์ ฉะนั้น จึงชื่อว่า นิพพิทา นิพพิทานั้นด้วย อนุปัสสนาด้วย ชื่อว่า นิพพิทานุปัสนา นิพพิทานุปัสนานั้น เป็นปฏิปักษ์ต่อความเพลิดเพลิน พระโยคาวจรย่อมคลายกำหนัด (วิราคะ) เพราะวิปัสสนา ๔ บริบูรณ์ จึงชื่อว่า วิราโค วิราคะนั้นด้วย อนุปัสสนาด้วย ชื่อว่า วิราคานุปัสสนา วิราคานุปัสสนานั้นเป็นปฏิปักษ์ต่อราคะ พระโยคาวจรย่อมดับราคะเสียได้ เพราะอนุปัสสนา ๕ บริบูรณ์ จึงชื่อว่า นิโรโธ นิโรธนั้นด้วย อนุปัสสนาด้วย ชื่อว่า นิโรธานุปัสสนา นิโรธานุปัสสนานั้นเป็นปฏิปักษ์ต่อสมุทัย พระโยคาวจรย่อมสละคืนเสียได้ เพราะอนุปัสสนา ๖ บริบูรณ์ จึงชื่อว่า ปฏินิสสัคดค ปฏินิสัคคโคนั้นด้วย อนุปัสสนานั้นด้วย ชื่อว่า ปฏินิสสัคานุปัสนา ปฏินิสัคคานุปัสสนานั้น เป็นปฏิปักษ์ต่อการยึดมั่น คำว่า นิพพิทาในที่นี้ หมายถึงวิปัสสนาอย่างกล้าถึงขั้นสังขารุเปกขาญาณ เมื่อจะเข้าสู่ปฏิเวธได้ อินทรีย์ทั้งห้าจะต้องแก่กล้าพอ คือได้เจริญธรรมอันบ่มวิมุตติมาอย่างดี แต่ขอให้ดูรายละเอียดในสังขารุเปกขาญาณในวิมุตติมรรค]
    [๑๖] หมวด ๔ ของปัญญา นัยที่ ๖
    อนึ่ง ปัญญาสี่ คือ อัตถปฏิสัมภิทา ธรรมปฏิสัมภิทา นิรุติปฏิสัมภิทา ปฏิภาณสัมภิทา ปัญญาที่รู้ในความหมาย เรียกว่า อัตถปฏิสัมภิทา ปัญญาที่รู้ในหลักธรรม เรียกว่า ธรรมปฏิสัมภิทา การแปลความหมายตามหลักภาษาศาสตร์ เรียกว่า นิรัตติปฏิสัมภิทา ญาณในความรู้ทั้งหลาย เรียกว่า ปฏิภาณปฏิสัมภิทา
    [ปฏิสัมภิทามรรค ข้อ ๖๐๒ ท่านว่า "การใช้พยัญชนะและหลักภาษาเพื่อแสดงธรรม เพื่อแสดงอรรถ เป็นนิรุติปฏิสัมภิทา"]
    [๑๗] หมวด ๔ ของปัญญา นัยที่ ๗
    ญาณในเรื่องของผล (อันมาจากเหตุ) เรียกว่า อัตถปฏิสัมภิทา ความรู้ในเหตุเรียกว่า ธรรมปฏิสัมภิทา ความรู้ความเข้าใจในการวิเคราะห์ธรรม เรียกว่า นิรุตติปฏิสัมภิทา ความรู้เรื่องญาณ เรียกว่า ปฏิภาณปฏิสัมภิทา

    [๑๘] หมวด ๔ ของปัญญา นัยที่ ๘
    ความรู้ทุกข์และความดับทุกข์ เรียกว่า อัตถปฏิสัมภิทา ความรรู้ในเหตุแห่งทุกข์ และทางให้ถึงความดับทุกข์ เรียกว่า ธรรมปฏิสัมภิทา ความรู้กฎเกณฑ์ในการ ใช้พยัญชนะและนิรัตติ) ในการแสดงความหมาย เรียกว่า นิรุตติปฏิสัมภิทา ความรู้เรื่องญาณ เรียกว่า ปฏิภาณปฏิสัมภิทา
    [๑๙] หมวด ๔ ชองปัญญา นัยที่ ๙
    อีกนัยหนึ่ง ความรู้ในธรรมเหล่านี้ คือ สุตตะ เคยยะ ไวยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพพภูตธรรม เวทัลละ เรียกว่า ธัมมปฏิสัมภิทา ความรู้ความหมายของคำที่พูดออกไปว่า นี่เป็นความหมายของคำพูด นี้เรียกว่าอัตถปฏิสัมภิทา ความรู้ความหมาย (ตามหลักนิรุตติศาสตร์) ของสิ่งที่ประกาศออกไปแล้ว นี้เรียกว่า นิรุตติปฏิสัมภิทา
    [๒๐] หมวด ๔ ของปัญญา นัยที่ ๑๐
    ความรู้เรื่องจักษุ เรียกว่า ธัมมปฏิสัมภิทา ความรู้เรื่องการเห็นเรียกว่า อัตถปฏิสัมภิทา ญาณในการรู้ (วิธีการใช้พยัญชนะและนิุรุตติเพื่อแสดง) ความหมายของอรรถนั้นๆ เรียกว่า นิรุตติปฏิสัมภิทา ความรู้ที่ก่อให้เกิดความฉลาดเรียกว่าปฏิภาณปฏิสัมภิทา
    [ปฏิสัมภิทามรรค ข้อ ๖๐๒ ท่านว่า จักษุเป็นธรรม ความเห็นเป็นอรรถ ทั้งนี้เพราะจักษุเกิดขึ้นเป็นเหตุ คือเป็นธรรม จึงเกิดผล คือการเห็นเป็นอรรถ]
    [๒๑] หมวด ๔ ของปัญญา นัยที่ ๑๑
    อีกนัยหนึ่ง ปัญญาสี่ประเภท คือทุกขญาณ สมุทยญาณ นิโรธญาณ มัคคญาณ ความรู้เกี่ยวกับเรื่องทุกข์เรียกว่า ทุกขญาณ ความรู้เกี่ยวกับเหตุแห่งทุกข์เรียกว่า สมุทยญาณ ความรู้เกี่ยวกับความดับทุกข์ เรียกว่า นิโรธญาณ ความรู้ในข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์เรียกว่า มัคคญาณ

    (จำแนกปัญญาจบ)
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 8 ตุลาคม 2009

แชร์หน้านี้

Loading...