เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอาทิตย์ที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๖๗

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 20 ตุลาคม 2024.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,337
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,521
    ค่าพลัง:
    +26,355
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอาทิตย์ที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๖๗


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    แก้ไขครั้งล่าสุด: 20 ตุลาคม 2024
  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,337
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,521
    ค่าพลัง:
    +26,355
    วันนี้ตรงกับวันอาทิตย์ที่ ๒๐ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗ กระผม/อาตมภาพมีเรื่องร้อนที่จะแจ้งต่อพระภิกษุของเรา ตลอดจนกระทั่งญาติโยมทั้งหลายที่สนใจใคร่รู้ ก็คือเมื่อวานนี้ในเขตปกครองคณะสงฆ์ภาค ๑๔ จังหวัดหนึ่ง ได้มีการทอดกฐินสามัคคี แล้วทำพิธีกรานกฐิน ปรากฏว่าในระหว่างทำการกรานกฐินนั้น มีผู้คัดค้านขึ้นมาในท่ามกลางสงฆ์..!

    ขอกล่าวถึงเรื่องของการกรานกฐินเสียก่อน ก็คือว่าเมื่อคณะญาติโยมผู้มีจิตศรัทธา หรือว่าท่านเจ้าภาพได้นำเอากฐินมาทอด ณ อารามแห่งใดแห่งหนึ่ง ซึ่งมีพระภิกษุสงฆ์ผู้จำพรรษาถ้วนไตรมาสอยู่ที่นั่นครบองค์สงฆ์ ก็จะมีการอปโลกน์กฐินเสียก่อน โดยให้พระภิกษุ ๒ รูป รูปที่ ๑ กล่าวนำ รูปที่ ๒ กล่าวตาม

    ท่านทั้งหลายลองฟังรูปที่ ๑ ซึ่งท่านจะกล่าวว่า "ผ้ากฐินทานพร้อมทั้งผ้าอานิสังสบริวารทั้งปวงนี้ เป็นของพระครูวิลาศกาญจนธรรม พร้อมด้วยศิษยานุศิษย์ ผู้ประกอบด้วยศรัทธาอุตสาหะ พร้อมเพรียงกันนำมาถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ผู้จำพรรษาถ้วนไตรมาส ในอาวาสวัดท่าขนุนแห่งนี้ ก็แลผ้ากฐินทานนี้ เป็นของบริสุทธิ์ ดุจจะเลื่อนลอยมาโดยนภากาศ แล้วแลตกลงในที่ประชุมสงฆ์ จักได้จำเพาะเจาะจงว่าเป็นของพระภิกษุรูปหนึ่งรูปใดก็หามิได้ ทรงมีพระบรมพุทธานุญาตไว้ว่า ให้พระสงฆ์ทั้งปวงยอมอนุญาตให้แก่ภิกษุรูปหนึ่ง เพื่อจะกระทำซึ่งกฐินัตถารกิจ ตามพระบรมพุทธานุญาต


    และมีคำพระอรรถกถาจารย์ผู้รู้พระบรมพุทธาธิบาย สังวรรณนาไว้ว่า ภิกษุรูปใดประกอบด้วยสีลสุตาธิคุณ มีสติปัญญาสามารถ รู้ธรรม ๘ ประการ มีบุพกิจ เป็นต้น ภิกษุรูปนั้นจึงสมควรเพื่อจะกระทำกฐินัตถารกิจ ให้เป็นไปตามพระบรมพุทธานุญาตได้ บัดนี้ พระสงฆ์ทั้งปวงจะเห็นสมควรแก่ภิกษุรูปใด จงพร้อมกันยอมอนุญาตให้แก่ภิกษุรูปนั้นด้วยเทอญ"

    ผู้อปโลกน์รูปที่ ๒ ก็จะกล่าวต่อไปว่า "ผ้ากฐินทานกับทั้งผ้าอานิสังสบริวารทั้งปวงนี้ ข้าพเจ้าพิจารณาแล้วเห็นสมควรแก่พระมหาสุบรรณลักษณ์ ปญฺญาวุฑฺโฒ ซึ่งเป็นผู้มีสติปัญญาสามารถในการกระทำกฐินัตถารกิจ ให้ถูกต้องตามพระบรมพุทธานุญาตได้ ถ้าพระภิกษุรูปใดเห็นไม่สมควร จงทักท้วงขึ้นในท่ามกลางระหว่างสงฆ์อย่าได้เกรงใจ ถ้าเห็นเป็นการสมควรแล้วไซร้ จงให้สัททสัญญา สาธุการขึ้นโดยพร้อมเพรียงกันด้วยเทอญ" พระสงฆ์ทั้งปวงถ้าเห็นสมควรก็จะ "สาธุ" ขึ้นโดยพร้อมเพรียงกัน
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 22 ตุลาคม 2024
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,337
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,521
    ค่าพลัง:
    +26,355
    อีกส่วนหนึ่งที่อยากจะกล่าวถึงก็คือ องค์คุณของภิกษุผู้ควรรับผ้ากฐิน ก็คือ

    ๑) ต้องรู้จักบุพกิจ

    ๒) ต้องรู้จักการถอนผ้าไตรจีวรเก่า

    ๓) ต้องรู้จักในการอธิษฐานผ้าไตรจีวรใหม่

    ๔) ต้องรู้จักวิธีการกรานกฐิน

    ๕) ต้องรู้จักมาติกา คือ หัวข้อแห่งการเดาะของกฐิน

    ๖) ต้องรู้จักปลิโพธะ หรือปลิโพธว่า เหตุกังวลอันเป็นเหตุให้ยังไม่เดาะกฐินมีอะไรบ้าง อย่างเช่นว่า จิตยังยึดคำนึงถึงอาวาสอยู่ หรือว่า จิตยังนึกยึดคำนึงถึงผ้าไตรจีวรนั้นอยู่ เป็นต้น

    ๗) รู้จักการเดาะของกฐิน

    และ ๘) รู้ถึงอานิสงส์ของกฐินทั้งปวง ซึ่งองค์คุณทั้งหลายเหล่านี้กำหนดเอาไว้ชัดเจนว่า บุคคลผู้ที่รู้จักกฐินัตถารกิจ มีสติปัญญาสามารถ รู้ธรรม ๘ ประการ มีบุพกิจ เป็นต้น


    คราวนี้เมื่ออธิบายส่วนนี้ชัดเจนแล้ว ปรากฏว่าพระภิกษุผู้ค้านการกรานกฐินเมื่อวานนี้ ของวัดแห่งหนึ่งในเขตปกครองคณะสงฆ์ภาค ๑๔ ซึ่งประกอบไปด้วยจังหวัดกาญจนบุรี นครปฐม สมุทรสาคร และสุพรรณบุรี จะเป็นจังหวัดใดอย่าไปรู้เลย ท่านคัดค้านขึ้นมาว่า "ไม่เห็นสมควรขอรับ" ทำเอาในหมู่คณะสงฆ์ถึงกับอึ้งไปหลายวินาที แล้วท่านก็กล่าวว่า "เนื่องจากว่าวัดนี้ไม่มีคณะกรรมการในการตรวจสอบเงินที่ได้จากการทอดกฐิน และในช่วงระหว่างพรรษา มีการขับไล่พระภิกษุออกไป ๒ - ๓ รูป จึงเห็นเป็นการไม่สมควรที่ท่านผู้นี้จะเป็นผู้รับกฐิน..!"

    กระผม/อาตมภาพได้ยินแล้วก็คิดว่า "ถ้าผู้คัดค้านอยู่วัดท่าขนุน กระผม/อาตมภาพก็จะไล่ออกต่อจาก ๒ หรือ ๓ รูปที่โดนไล่ออกในระหว่างพรรษานั่นแหละ..!" เนื่องเพราะว่าผู้อปโลกน์ประกาศอย่างชัดเจนว่า "ผ้ากฐินทานและผ้าอานิสังสบริวารทั้งหลายเหล่านี้ ฯลฯ" ก็คือเรื่องของผ้ากฐินทานนั้นเป็นผ้าผืนใดผืนหนึ่งก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นสบง จีวร หรือว่าสังฆาฏิ ในเมื่อกำหนดผืนหนึ่งเป็นผ้ากฐินแล้ว ส่วนที่เหลือก็คือผ้าอานิสังสบริวาร ก็คือผ้าที่ร่วมถวายเป็นกฐินในครั้งนั้น

    ปรากฏว่าสิ่งที่ท่านคัดค้านมานั้นไม่ได้เกี่ยวอะไรเลย กับผ้ากฐินทานและผ้าอานิสังสบริวาร ว่าสมควรแก่ท่านผู้นั้นหรือไม่ ? ท่านผู้นั้นเป็นผู้รู้กฐินัตถารกิจหรือไม่ ? เป็นผู้รู้ธรรมทั้ง ๘ ประการในการที่จะกรานกฐินหรือไม่ ? ไม่ได้มีการคัดค้านในตรงส่วนนี้เลยแม้แต่นิดเดียว แต่ไปค้านว่าไม่มีคณะกรรมการตรวจสอบยอดเงินกฐิน มีพระภิกษุโดนขับไล่ออกจากวัดในระหว่างพรรษา ๒ หรือ ๓ รูป ซึ่งไม่ได้เกี่ยวอะไรกับพิธีกรรมในการกรานกฐินครั้งนั้นเลย..!
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,337
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,521
    ค่าพลัง:
    +26,355
    ท่านทั้งหลายต้องไม่ลืมว่า พิธีกรรมในการทอดกฐินนั้น เป็นพิธีกรรมที่ต้องการความสามัคคีอย่างยิ่งในหมู่สงฆ์ ก็คือให้พระภิกษุทั้งวัด ร่วมกันตัด กะ เย็บ ย้อม ผ้าผืนใดผืนหนึ่งเพื่อทำเป็นผ้ากฐิน ไม่เช่นนั้นแล้วในช่วงที่ก่อนจะมีฤดูกฐิน หรือว่ากาลแห่งกฐินนั้น ต่างรูปต่างก็เสาะหาผ้าจีวรสำหรับตนเอง ถ้าหากว่าภายใน ๑ เดือนหลังออกพรรษาแล้ว ไม่สามารถที่จะเสาะหามาได้ครบถ้วน ก็เป็นอันว่าสูญเปล่า เพราะว่าเลยกาลจีวร หรือกาละแห่งจีวรไปแล้ว

    ครั้นเมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงมีพระบรมพุทธานุญาตให้รับกฐินได้ อานิสงส์นี้ก็ขยายจากกลางเดือน ๑๒ ออกไปถึงกลางเดือน ๔ ก็คือขยายเพิ่มอีก ๔ เดือน แต่เพื่อความแน่นอน พระองค์ทรงให้พระภิกษุสงฆ์ที่อยู่ร่วมกันทั้งหมดนั้น ช่วยกันตัด ช่วยกันเย็บ ช่วยกันย้อม ประกอบเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่งขึ้นมา แล้วพิจารณาว่าสมควรแก่พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งที่จำพรรษาถ้วนไตรมาสในวัดนั้น ว่าจะเป็นผู้รับซึ่งผ้ากฐินในปีนี้ แล้วก็ประกาศขึ้นในท่ามกลางสงฆ์

    เมื่อมีการสาธุการ คือเห็นสมควรว่าดีแล้ว ผ้านี้สมควรแก่ท่านรูปนั้นจริง ๆ ก็เป็นอันว่าท่านรูปนั้นก็นำผ้าไป แล้วก็ประกอบซึ่งธรรม ๘ ประการ มีบุพกิจเป็นต้น จนกระทั่งครองผ้ากฐินแล้ว ก็ประกาศให้พระสงฆ์ทั้งปวงอนุโมทนา ซึ่งท่านทั้งหลายก็ได้กล่าวอนุโมทนาผ้าที่พระมหาสุบรรณลักษณ์ได้ครองไปแล้วว่า "อัตถะตัง ภันเต สังฆัสสะ กะฐินัง ธัมมิโก กะฐินัตถาโร อะนุโมทามะ" ซึ่งถ้าหากว่าท่านเป็นผู้ที่กล่าวเพียงรูปเดียว ก็ให้กล่าวว่า"อนุโมทาถะ" แต่เนื่องจากว่าเรากล่าวพร้อมกันทั้งวัด ยกเว้นพระอาจารย์เตชะ ซึ่งมีอาวุโสสูงสุด ท่านก็จะกล่าวอนุโมทนาเป็น "อัตถะตัง อาวุโส" อยู่รูปเดียว

    ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ความสามัคคีพร้อมเพรียง ซึ่งยังความงดงามให้ปรากฏขึ้นในหมู่สงฆ์ ก็จะเกิดขึ้น สมดังองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงได้มีวัตถุประสงค์ในการกำหนดซึ่งพิธีการในการกรานกฐินเอาไว้ แต่ว่าพระภิกษุรูปนั้น แสดงว่าขาดการศึกษาเป็นอย่างมาก ไม่ทราบเหมือนกันว่าท่านเป็นพระที่เพิ่งบวชใหม่ในพรรษานั้น หรือว่าบวชเก่าแต่ขาดการศึกษาให้ถ่องแท้ จึงได้คัดค้านในสิ่งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับพิธีกรานกฐินในวันนั้นเลย

    แล้วเป็นการสร้างรอยด่างให้เกิดขึ้นกับคณะสงฆ์ภาค ๑๔ โดยเฉพาะคณะสงฆ์วัดนั้น กระผม/อาตมภาพมั่นใจว่า ถ้าเจ้าอาวาสปรึกษาหารือกับผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นแล้ว ท่านถ้าไม่สึกหาลาเพศไปเสียก่อน ก็อาจจะไม่มีแผ่นดินจะอยู่..! เพราะว่า
    อยู่แล้วก็ไปทำให้วัดเขาเสียหาย โดยที่ปราศจากความรู้ในกิจของสงฆ์เลย..!
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,337
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,521
    ค่าพลัง:
    +26,355
    เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ย้ำเตือนต่อพระภิกษุสงฆ์ของวัดท่าขนุนว่า การศึกษานั้นจำเป็นอย่างยิ่ง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้แบ่งธุระในพระพุทธศาสนาออกเป็น ๒ ส่วน คือ คันถธุระ การศึกษาซึ่งพระไตรปิฎก และ วิปัสสนาธุระ การพิจารณาธรรมจนกระทั่งรู้แจ้งเห็นจริงว่า ปกติธรรมดาของโลกนี้มีความไม่เที่ยง เกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงแปรปรวนไปในท่ามกลาง สลายตัวไปในที่สุด มีแต่ความเป็นทุกข์ ยึดมั่นถือมั่นเมื่อไร จิตใจเราก็ร้อนรุ่มกระวนกระวายด้วยประการใดประการหนึ่ง แล้วก็แบกทุกข์หาบทุกข์เอาไว้คนเดียว บางทีก็เครียดจนนอนไม่หลับ..!

    แล้วท้ายที่สุด ก็ไม่มีสิ่งหนึ่งประการใดสามารถยึดถือมั่นหมายเป็นตัวตนเราเขาได้ แม้แต่ภูเขาที่ว่ายิ่งใหญ่มั่นคงขนาดไหน ท้ายสุดก็ค่อย ๆ เปื่อยผุพังลง เป็นหิน เป็นทราย เป็นฝุ่นผง เป็นดิน หมดสภาพความเป็นขุนเขาอันยิ่งใหญ่ค้ำฟ้า..!


    ถ้าเห็นจริงตามนี้ก็ถือว่าวิปัสนนาธุระของท่านนั้น สามารถเพียงพอที่จะเอาไว้บรรเทาความทุกข์ที่เกิดขึ้นแก่ตน แต่ถ้าจิตไม่นิยมการเกิด ปลดจากการยึดเกาะทั้งปวงจริง ๆ ท่านก็จะหลุดพ้นจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพาน สมดังที่ได้ปฏิญาณไว้ในวันบวชว่า "นิพพานัสสะ สัจฉิกะระณัตถายะ เอตัง กาสาวัง คะเหตวา ข้าพเจ้าขอรับผ้ากาสาวพัสตร์นี้มา เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน"

    ท่านทั้งหลายลองพิจารณาดูว่า ถ้าภายในวัดของเรา ซึ่งประกอบไปด้วยพระภิกษุสงฆ์ ๔๐ กว่าเกือบ ๕๐ รูป แล้วทุกรูปไม่ศึกษาความรู้อะไร ๆ เลย รอแต่ครูบาอาจารย์หรือพระเถระมาบอก แล้วท่านได้กระทำสิ่งที่ผิดพลาด นอกจากเสียหายแก่ตนเองแล้ว ก็เสียหายต่อครูบาอาจารย์ เสียหายไปถึงวัด เสียหายไปถึงคณะสงฆ์ตำบล เสียหายไปถึงคณะสงฆ์อำเภอ เสียหายไปถึงคณะสงฆ์จังหวัด เสียหายไปถึงคณะสงฆ์ภาค ท้ายที่สุดก็เสียหายไปถึงคณะสงฆ์ไทย..!

    เรื่องทั้งหลายเหล่านี้เป็นเรื่องที่ใหญ่โตมาก จึงอยากจะฉวยโอกาสที่เรื่องเพิ่งจะเกิดขึ้น ระงับการกล่าวถึงเรื่องอื่น ๆ เอาไว้ก่อน เอาเรื่องนี้เป็นหลัก ท่านทั้งหลายกลับไปทบทวนเสียก่อน ไม่ว่าท่านที่เป็นพระภิกษุสงฆ์ ควรที่จะเร่งทบทวนเรื่องทั้งหลายเหล่านี้ให้รู้แจ้งเห็นจริง ไม่ว่าท่านจะศึกษานักธรรมชั้นตรี ชั้นโท ชั้นเอกอย่างไรก็ตาม ท่านที่ศึกษาผ่านมาแล้ว เร่งกลับไปทบทวน ท่านที่ยังศึกษาไม่ถึง เร่งศึกษาให้ถึง จะได้ไม่กระทำสิ่งที่ผิดพลาดขายหน้าแบบนี้ให้เกิดขึ้นกับคณะสงฆ์อีก และญาติโยมทั้งหลาย ถ้าหากว่าเคยอุปสมบทมาแล้วก็ดี ยังไม่เคยอุปสมบทก็ตาม ก็สามารถที่จะหาตำรานักธรรมบาลีเหล่านี้มาศึกษาได้

    โดยเฉพาะพระไตรปิฎกในส่วนของกฐินขันธกะในพระวินัยปิฎก ท่านทั้งหลายอ่านให้ปรุโปร่ง อ่านให้เข้าใจ ถึงเวลาถ้าพระภิกษุสงฆ์ทำผิดทำพลาด จะได้กราบขออนุญาตเรียนถวายสิ่งที่ถูกต้องแก่ท่านได้
    จึงจะสมกับความไว้วางใจที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ฝากภารธุระในพระพุทธศาสนาเอาไว้กับพุทธบริษัททั้ง ๔ ของพระองค์ท่าน โดยที่หวังเอาไว้ว่า อายุพระศาสนาจะได้ยืนยงครบถ้วน ตามเวลาที่พระองค์ท่านทรงตั้งเจตนารมณ์เอาไว้

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันอาทิตย์ที่ ๒๐ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...